วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติ และ ปฏิปทา หลวงพ่อ แบน ธนากโร


หลวงพ่อแบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์
ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

อัตโนประวัติ
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถรหรือ หลวงพ่อแบน ธนากโร มีนามเดิมว่า สุวรรณ กองจินดา เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ณ บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเล็ก และนางหลิม กองจินดา
การศึกษาเบื้องต้น
ครั้นพอถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนแล้ว โยมบิดา-โยมมารดาได้ส่งให้ท่านเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ ครั้นจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้ช่วยบิดามารดาทำสวนทำไร่ เพราะในเขตจังหวัดจันทบุรีนั้น อาชีหลักคือทำสวนเงาะ สวนทุเรียน
๏ การอุปสมบท

เมื่ออายุ ๒๑ ปี หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านได้เข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ณ วัดทรายงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านของท่าน พอทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติแล้ว หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ จึงได้นำท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วัดเกาะตะเคียน ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีพระอมรโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูพิพัฒน์พิหารการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเม้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่กงมา


หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
ภายหลังจากที่ท่านบวชบวชแล้วก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ที่วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี และก็ได้ติดตามหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ มาอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งหลวงปู่กงมาได้มรณภาพลง ครั้นทำการถวายเพลิงศพของหลวงปู่กงมาแล้ว หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์ต่อจากหลวงปู่กงมาผู้เป็นอาจารย์ รักษาข้อวัตรปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว รวมทั้งทำหน้าที่อบรมพระภิกษุสามเณร ญาติโยมที่มาขออยู่ปฏิบัติธรรม ให้มีศีลธรรมประจำใจ
เป็นพระที่องค์พระมหากษัตริย์ให้ความเคารพ

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จแปรพระราชฐานมาพักอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เพื่อออกเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคอีสาน ทั้งสองพระองค์ และพระบรมวงศ์ จะเสด็จขึ้นไปกราบนมัสการหลวงพ่อแบน ธนากโร ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ และเยี่ยมเยียนประชาชนในแถบนั้นทุกครั้ง
๏ เป็นเสาหลักพระกรรมฐาน
ท่านเป็นเสาหลักพระกรรมฐานในเขตภาคอีสาน และภาคอื่นๆ ซึ่งพอถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น คณะลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาสนั้นจะมาจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเขตจังหวัดสกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, อุดรธานี, เลย, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ ฯลฯ จะพากันมาลงอุโบสถสามัคคีกันที่วัดดอยธรรมเจดีย์ และรับฟังธรรมโอวาท คติเตือนใจ รวมทั้งข้อธรรมอื่นๆ ในด้านการปฏิบัติจิตตะภาวนาจากหลวงพ่อแบน ธนากโร
และท่านก็จะให้กำลังจิตกำลังใจ ไม่ให้ท้อถอย ให้ต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย คือกิเลส ให้ยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งให้พากันตั้งอกตั้งใจรักษาข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ท่านพาดำเนินมา ซึ่งในช่วงเทศกาลต่างๆ นั้น พระภิกษุที่มารวมกันลงอุโบสถนั้น มีประมาณ ๔๐๐๕๐๐ รูป ส่วนฆราวาสก็ประมาณ ๙๐๐ ,๕๐๐ คน ในวันปวารณาเข้าพรรษานั้น หลวงพ่อแบน ธนากโร องค์ท่านก็จะแจกวัตถุสิ่งของต่างๆ หลายอย่างให้แก่วัดที่มาร่วมลงอุโบสถสามัคคี อาทิเช่น น้ำตาล โกโก้ กาแฟ ร่ม ฯลฯ เพื่อมอบให้แก่ทางวัดได้ใช้สอยร่วมกัน และก็จะแจกถุงยังชีพให้แก่พระภิกษุสามเณร มีสบู่ ยาสีฟัน ยารักษาโรค ยากันยุง น้ำยาซักผ้า ฯลฯ เป็นต้น


เรื่องการสงเคราะห์หมู่คณะพระเณร ญาติโยมนี้ หลวงพ่อแบน ท่านจะทำอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่แต่เฉพาะวันสำคัญเท่านั้น ท่านจะพาลูกศิษย์ไปแจกผ้าห่ม เสื้อผ้า ข้าวปลา อาหารแห้ง ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ให้แก่ประชาชน ในเขตอำเภอภูพาน อำเภอเต่างอย อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร อำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และทั่วทั้งภาคอีสาน รวมไปถึงภาคเหนือ และภาคอื่นๆ เป็นต้น

ส่วนการสงเคราะห์ตามวัดนั้น ท่านจะออกไปตรวจตรา เยี่ยมเยียนตามวัดต่างๆ เพื่อให้กำลังจิตกำลังใจในการเจริญจิตตภาวนา นำเครื่องอุปโภค บริโภค มีน้ำตาล น้ำปลา มาม่า ปลากระป๋อง ฯลฯ ไปถวายให้วัดนั้นๆ หากเป็นฤดูกาลหน้าผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ออก ท่านก็จะจำนำไปแจกจ่ายให้ตามวัดครูบาอาจารย์กรรมฐานต่างๆ รวมทั้งวัดอื่นๆ ด้วย

*** คัดลอกจากเว็ปไหนจำไม่ได้แล้ว เก็บไว้นานมากแล้ว

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551


รูปที่พักสงฆ์ บริเวณ ศาลาเอนกประสงค์

ที่พักสงฆ์ ขันติอุดมธรรม ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำหนองหลวง
ของหมู่บ้านหนองหลวง ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย
จังหวัดเชียงราย

ที่หนองหลวงนี้ เล่าขานกันว่าเป็นบริเวณเมืองเก่า เป็นหนองน้ำที่มีเนื้อที่กว้างขวางพอสมควร ประมาณ 7000 ไร่ มีเกาะมากมายในบริเวณหนองน้ำ แต่เกาะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เกาะแม่ม่าย (แม่หม้าย)ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ที่พักสงฆ์