วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552

ข้อวัติปฏิบัติ 06 การใช้ผ้าจีวร ผ้านุ่งผ้าห่ม การซัก-ย้อม -ตาก

ข้อวัติปฏิบัติ 06 การใช้ผ้าจีวร ผ้านุ่งผ้าห่ม การซัก-ย้อม- ตาก
ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240313วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2524
พูดกันถึงว่าเครื่องห่ม เราก็ไม่ได้มีมากชุด ปีหนึ่งก็คิด แล้วก็ปีละชุด ๆ ๆ ถ้าหากว่าคิดแล้วสบงนี่ บางทีสามปีสองตัว สามปีมีใช้สองตัว ปีละตัวสลับกันไป เฉลี่ยแล้วก็ประมาณห้าปี นี้ใช้ผ้าสบง รู้สึกว่าจะไม่เกินสี่ตัว ถ้าจีวรก็รู้สึกว่าจะปีละ
ตัว เราใช้มันก็เรียกว่า ไม่ประณีตใส่นักหรอก ก็ใช้ไปทุกแห่ง ทุกสถานที่ เวลานอนก็ใช้ เวลานั่งก็ใช้ เวลาเดินจากวัดไปนั่นไปโน่น เข้าบ้านเข้าช่องก็ใช้ บางทีไปป่าไปภู นั่งรถนั่งราก็ใช้ ใช้ตัวเดียวกันตัวเก่านั่น สรุปแล้วอยู่กับวัดก็ผืนเก่า ออกนอกวัดก็ผืนเก่า ไปตลาดลาดลี กรุงเทพ ฯ กรุงไทย ถ้าหากว่ามีโอกาสได้ไปเมืองนอกเมืองนากับเขาบ้าง ก็ใช้ตัวเก่า ก็ใช้ได้อยู่ถึงขนาดนี้ เฉลี่ยแล้วตัวหนึ่งนี้ต้องได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แล้วก็ส่วนผ้าสังฆาฏินี้ ถ้าหากว่าเนื้อมันเหนียว เนื้อมันพอดีใช้ได้ถึงห้าปีหกปีโน่นหนะ

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240313 วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2524
สังฆาฏิมันไม่ได้ใช้อะไรมาก ใช้เวลาวันอุโบสถ สิบห้าวันต่อครั้ง แล้วก็ใช้เวลาบิณฑบาต หรือกิจนิมนต์ก็เข้าไปในบ้าน บิณฑบาตใช้ทุกวัน กิจนิมนต์ก็เข้าไปในบ้าน อยู่วัดนี่ตามปรกติไม่ค่อยได้ใช้ เว้นแต่ว่าหนาวมาก ผ้าห่มไม่พอก็คลี่ผ้าสังฆาฏิออกมาห่มซ้อน สังฆาฏิคิดแล้วสามปี สี่ปี ห้าปีได้อยู่ นี่พูดกันถึงว่าในด้านเครื่องนุ่มห่มก็ใช้อย่างนี้

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 011/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 261220 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2526
ท่านสรรเสริญผู้ที่มีจีวรคร่ำคร่า ยกย่องผู้ที่ถือผ้าสามผืน ท่านไม่ได้ยกย่องผู้ที่มีจีวรมีค่าอันสวยงาม ท่านไม่ได้ยกย่องผู้ที่มีจีวรเต็มกุฏิ มีแต่ท่านได้ตำหนิ จึงว่าเราอยู่ในสภาพที่พระศาสดายกย่อง หรือว่าอยู่ในสภาพพระศาสดาตำหนิ อันนี้ให้พากันเข้าใจให้พากันรู้จัก ในสภาพการเป็นอยู่ของเจ้าของ ถ้าหากอยู่ในลักษณะที่พระพุทธเจ้าท่านยกย่องท่านสรรเสริญ อันนั้นให้พอใจสภาพการเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็พยายามรักษาไว้ เพราะชีวิตการปฏิบัติทางชีวิตนักบวชของเรา อุทิศต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้บวชเพื่ออุทิศให้เพื่อกิเลสของเรา

ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 140/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290923 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2529
ผ้าสบงจีวรผึ่งก็ผึ่งนิดหน่อยก็พอ ไม่ต้องผึ่งมาก อย่าผึ่งตลอดมื้อตลอดวัน ผึ่งประเดี๋ยวประด๋าวถ้ามีแดดไม่ควรให้เกิน 10 นาที ไม่ต้องผึ่งนาน อย่างหนึ่งเวลาซักจีวรซักสบงเหมือนยังมีอยู่ผ่านตาอยู่ ที่ว่าตากไว้แห้งก็ไม่สนใจที่จะเก็บจนกระทั่งบางทีจะนอนเย็นก็ไม่รู้ดอก อย่าให้เป็นอยู่นั้น ผมไม่เป็นอย่างนั้นน่า ถ้าหากว่าซักผ้าซักแพรนี่ ต้องอยู่ต้องตากต้องดูต้องลูบต้องคลำ แห้งเก็บเรียบร้อยจึงไปที่พัก ผ้าอาบน้ำก็
เหมือนกัน เวลาผึ่งผ้าอาบน้ำผึ่งพอสมควร ก็พับเก็บไว้ให้เรียบร้อย ทำเรียบร้อยงามในตาเลยหนะ ไม่ใช่ว่าตากไว้จนกระทั่งถึงเวลาต้องการที่จะเอามาใช้ จึงเอามาใช้ ไม่ไหวจริงถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ ของเหล่านี้อย่าไปคิดว่าไม่เป็นข้อปฏิบัติ อย่าไปเห็นว่าไม่เป็นการขัดเกลากิเลส กิเลสมันคืออะไร มันตัวมักง่ายตัวอยากตัวโลเล ตัวขี้เกียจขี้คร้าน อืดอาดมันกิเลสทั้งนั้น เป็นการขัดเกลาค่อยบั่นทอนลงไป ค่อยบั่นทอนลงไป

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 999/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290808 วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529
ผ้าสบงจีวรอะไรพอตาก ตากซะถ้ามีแดด ที่หลับที่นอนหมอนมุ้งเสื่อสาดเอามาผึ่งเอามาเคาะ บางโอกาสที่มีแดดดีก็เรียบร้อยเก็บผ้าอาบด้วย ผ้าอาบอย่าไปตากไว้จนกระทั่งตอนบ่าย ต้องการใช้จึงไปเก็บเอา ผ้าจีวรบางทีตากตั้งแต่เช้าไปหาบ่ายก็มี ถึงเวลาซักผ้าซักแพรก็เหมือนกัน อันนี้ก็ให้พากันสนใจซักผ้าซักตากแล้วอย่ากลับไปกุฏิ ถ้าหากว่ามีธุระจำเป็นจะกลับ กลับไปแล้วกิจแล้วก็ให้มาดูผ้าดูแพรของเจ้าของ หมั่นพลิกหมั่นดึง ตรงไหนมันหดตรงไหนมันยืดอะไร พลิกขยับ เวลาผ้าแห้งแล้วเรียบ ไม่ยู่ยี่ไม่เป็นรอยเชือกรอยเชือกตากลวด มันควรที่แล้วนี้ก็มีอยู่ไม่รู้ ผ้าของใครตากจนกระทั่งถ้าหากฝนตกก็เปียก บุญดีฝนไม่ตก

ข้อปฏิบัติ 5 การสำรวมระวังในความเป็นนักบวช สมณสารูป

หัวข้อย่อย 05 การสำรวมระวังในความเป็นนักบวช สมณสารูป

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 118/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2529
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติหน้าที่ของเรา ให้สมบูรณ์ในอิริยาบถทั้งสี่ อิริยาบถใด ๆ ในการเคลื่อนไหวใด ๆ ของเรานั้น มีความสมบูรณ์ทุกสิ่งแล้วหรือยัง หรือว่ายังมีความบกพร่องในอิริยาบถนั้น ๆ อยู่นี้ อันนี้เป็นเรื่องของเราที่จะรู้จักเราเอง การเคลื่อนไหวในการนั่ง การเคลื่อนไหวในการนอน การเคลื่อนไหวในการเดินในการยืน มีความบกพร่องไหม ในหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม หน้าที่ของนักบวช หน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม ศรัทธาญาติโยมก็เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกันทั้งนั้น ให้มันสมบูรณ์ในหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น ในเมื่อสมบูรณ์ในหน้าที่แล้ว อรรถธรรมหากเกิดหากมีขึ้นที่ใจ ใจของเรานี้หากเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมาเอง ไม่มีสิ่งที่จะเป็นอรรถเป็นธรรมมีแต่ใจของเราเท่านั้น จะเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมานี้

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 118/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2529
นอนก็นอนอย่างพระนอน นั่งก็นั่งอย่างพระนั่ง การกินก็ให้กินอย่างพระกิน หรือพระฉันนี้ การขับถ่ายก็ให้มีการขับถ่ายอย่างพระขับถ่าย การอาบน้ำอาบท่าก็ให้มีการอาบน้ำอาบท่าอย่างพระสรงน้ำ ตลอดถึงทุกสิ่งทุกอย่าง การเกี่ยวข้องพูดจากปราศรัยนี้ ก็ให้มีการเกี่ยวข้องพูดจาปราศรัยซึ่งกันและกันอย่างพระคุยกัน อันนี้เป็นหน้าที่ของนักบวช หน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม ศึกษาในหน้าที่ของเจ้าของให้เข้าใจ และปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าของให้สมบูรณ์ถูกต้อง อย่าให้มีความขาดตกบกพร่อง ในเมื่อไม่มีความขาดตกบกพร่องแล้วนี้ ความสมบูรณ์หากเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเรา ถ้าหากว่ามีความขาดตกบกพร่องแล้ว ความบกพร่องหากเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเราเหมือนกัน มันไม่มีความสมบูรณ์ มันขาดมันบกพร่อง

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 118/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2529
เดินก็เดินอย่างเป็นพระ นั่งให้นั่งอย่างเป็นพระ เดินอย่างผู้ปฏิบัติธรรม นั่งอย่างผู้ปฏิบัติธรรมนี้ นอนก็ให้นอนอย่างพระ อิริยาบถทั้งสี่ ให้เป็นอิริยาบถในลักษณะที่พระท่านปฏิบัติกันนี้ การกิน การถ่าย การเกี่ยวข้อง การพูดจาปราศรัย การเกี่ยวข้องทั้งหมด ให้มีการเกี่ยวข้องในลักษณะพระอันนี้ เป็นหน้าที่ของพระจะต้องปฏิบัติ เป็นหน้าที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องศึกษา ประพฤติปฏิบัติกัน การเดินทาง การนั่งรถนั่งรา ก็เหมือนกันนี้ ให้นั่งรถนั่งรา ก็นั่งรถนั่งราอย่างนักปฏิบัติธรรม นั่งรถนั่งราไปไหนมาไหน ก็นั่งรถนั่งราไปอย่างพระนั่งไป บางทีเหมือนขี้เหล้าก็มีนะ ดูก็มีแต่นักปฏิบัติธรรมเต็มรถเต็มรา เสียงอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้ แสดงว่าเป็นผู้ไม่มีสติสตังในการพูดคุยกันเสียเลยนี้ อันนี้ก็ต้องระวัง เพราะการปฏิบัติธรรมนี้ พระพุทธเจ้าท่านให้ปฏิบัติเสมอนะนี่ ปฏิบัติเป็นประจำ ไม่ใช่ว่านั่งรถนั่งราหละ ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นบาป

ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 050/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 260823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2526
ใจของเรานี่จึงเรียกว่ามีความสำคัญ ควรพากันระมัดระวัง ควรพากัน นี่ สำรวมใจของเราไว้ให้ดี ให้มีสติอยู่เสมอ สำรวมใจของเราไว้ในปัจจุบันนี่ ในเมื่อเรามีสติ สำรวมใจของเราไว้ให้ดี ในปัจจุบันนี้ อดีตมันก็จะดี เพราะวันคืนล่วงไปล่วงไป พรุ่งนี้มะรืนนี้ วันนี้ที่เรามีการระมัดระวังคุ้มครองรักษาใจของเราดี วันนี้ในเมื่ออีกหลายวัน วันนี้ก็จะกลายเป็นอดีต อดีตมันก็จะดี แล้วอีกนานอีกต่อไปข้างหน้า ในเมื่อเรามีการระมัดระวังรักษาใจของเราไว้ดีแล้ว หลายวัน ๆ เข้า กาลข้างหน้านานเท่าไรมันก็กลายเป็น ....อนาคต จะไกลสักเท่าไรมันก็กลายเป็นอนาคตที่ดี เป็นอนาคตที่ชอบธรรมแก่เรา เป็นอนาคตที่มีความเจริญก้าวหน้า ในด้านการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ต้องไปคาดคะเนเรื่องอนาคต กาลข้างหน้าเราจะไปยังไงนี่ กาลข้างหน้าเราไม่ต้องลังเลสงสัย นี่ ในเมื่อเรามีการปรับในปัจจุบันนี้ให้ดี เต็มสติความสามารถของเรา ความไม่ดีทั้งหลายอย่าให้มันมีขึ้น

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 022/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290613 วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2529
การปฏิบัติธรรม เราต้องพยายามทำความติดต่อ ในอิริยาบทใด ๆ เราต้องอย่าให้อิริยาบถนั้นมาทำลายกิริยาของการปฏิบัติ เราจะนั่ง เราจะลุก เราจะเดิน เราจะว่ารับประทาน ขับถ่าย พูดจาปราศรัย หรือในการลุก การนั่ง การนอน การรับประทาน การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ต้องเป็นผู้ที่เป็นสติ ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่มีสติ คือ การปรารถนา การปฏิบัติธรรมของเราอยู่ เราจะเป็นผู้ที่มีความสงบเรียบร้อย การเดินของเรา ก็จะเดินเรียบร้อย การนั่งของเราจะเรียบร้อย การพูดจาปราศรัยซึ่งกันและกัน ก็ออกมาในลักษณะที่เรียกว่า เป็นผู้ที่มีธรรม ออกมาในลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเราขาดสติแล้ว การเดินก็บอกว่าผู้ไม่มีธรรม การเดินก็บอกว่าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม อิริยาบถใด ๆ ก็บอกว่าไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม การพูดจาปราศรัยซึ่งกันและกันก็บอกว่า ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม หรือบอกว่าเป็นผู้ไม่มีธรรม คือการไม่มีการกระทำภายในใจนั่นเอง ต้องเป็นผู้มีสติ ปรารภธรรม เป็นผู้ปรารภสติ ให้เกิด ให้มีขึ้น

ลำดับที่ 006 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250717 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
ผู้ที่บวชก่อน ผู้ที่บวชเก่าแล้ว ก็ให้ศึกษาในตัวของเจ้าของให้มาก ว่ามีความถูกต้องเรียบร้อย ไม่มีความขาดตก ไม่มีความบกพร่องแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่เรียบร้อย ยังมีความบกพร่องอยู่ อันนี้ก็ในเมื่อยังปรากฏอยู่ว่า ยังมีความบกพร่อง ก็รีบแก้ไขเสีย จะได้เป็นตัวอย่าง จะได้เป็นแบบแผน แก่ผู้ที่มาบวชมาเรียนทีหลัง ถ้าหากว่าผู้เก่าก็ไม่สนใจในการศึกษาในตัวของเจ้าของ ว่าสมควรที่จะเป็นแบบเป็นแล้วหรือยัง หรือยังมีความบกพร่องอยู่นี่ ถ้าหากว่าไม่สนใจละก็ ไม่มีโอกาสที่ความบกพร่องที่มีอยู่จะหมดไป แล้วทีนี้ผู้บวชใหม่ มาเห็นผู้บวชเก่ามีแต่ความบกพร่อง มีแต่ความบกพร่อง หนักเข้าลูกศิษย์ผู้บวชนี่ ก็เห็นครูเห็นอาจารย์ผู้บวชเก่า มีการกระทำในทางที่ไม่เป็นธรรมเป็นวินัย ก็คิดว่าการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเป็นวินัยนั้นหละ เป็นการถูกต้องตามธรรมตามวินัย แล้วก็ทำตามกันไป ตามกันไป ลุกลามกันไปหน้า ใช้ไม่ได้ อันนี้มันเป็นทางแห่งความเสื่อมเสีย ทำลายข้อวัตรปฏิบัติ ทำลายศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความบกพร่องของเจ้าของ ให้คนอื่นคิดว่าความบกพร่องของเจ้าของนั้นหละ เป็นธรรมเป็นวินัยอันถูกต้องแล้ว

ลำดับที่ 007 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290721 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
ข้อวัตรปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างต้องคล่องตัว อย่าเป็นผู้อืดอาด อย่าเป็นผู้ที่ล้าหลัง คำว่าคล่องตัวไม่ใช่แล่นไป ไม่ใช่กระโดดไป คำว่าคล่องตัวนี่ มันคล่องอยู่ตลอดเวลา แวววาวอยู่ตลอดเวลา ภายในจิตในใจนี่ ถึงเวลาทำข้อวัตรปฏิบัติอะไร ถึงว่าจะเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าเจ้าของอยู่ เจ้าของเห็น จะต้องช่วยกันทำ แม้แต่การล้างกระโถนการเช็ดกระโถนการเก็บกระโถน การอะไรก็ช่างต้องช่วยกันทั้งนั้นอย่าดูดาย การปัดการตาดก็เหมือนกัน ถึงเวลาหละ ต้องรีบทันทีอย่าไปอืดอาด อย่าเป็นคนหยาบ อย่าเป็นคนหลังแข็ง คำว่าหยาบคือยังไง ทำอะไรหยาบ ๆ นี่ตามันก็หยาบเพราะใจมันหยาบ ปัดตาดก็ไม่ แล้วปัดไปตรงไหน ถ้าปากว่าคนหลาย ๆ ปัดไม่แล้วดอก เหลียวดูตามหลังมันไม่แล้ว ปัดตรงนี้ตรงนั้นไม่ปัด ปัดตรงนั้นตรงนั้นไม่ปัด ทั้งที่เจ้าของผ่านไปนั่นหละนั่น ใจมันหยาบตามันก็หยาบ อย่าให้เป็นอย่างนั้น ต้องให้เป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบทุกสิ่งทุกอย่าง ตรงไหนพอเก็บตรงไหนพอกวาด ตรงไหนพอเช็ดตรงไหนพอปัด ตรงไหนพอถูตรงไหนไม่เป็นระเบียบตรงไหนไม่เรียบร้อย ไม่ต้องให้ใครมาบอก ตาของเรามี ใจของเรามีบอกเราเอง เป็นการฝึกเราให้เป็นคนมีหูมีตาเป็นการฝึกลักษณะคล้าย ๆ กับว่า คนไม่มีจิตไม่มีใจ จะต้องจูงกันไป เหมือนกับคนตาบอด

ลำดับที่ 008 เลขที่เทป 039/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 260729 วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2526
จึงว่าการฝึกสติต้องฝึกไปในการสำรวม ในการเคลื่อนไหว ในตัวของเรานี่แหละ แม้แต่รับประทานอาหารนี่ เวลาเราหยิบขึ้นมาก็ให้รู้สึกตัว เราเอาใส่ปาก เราก็ให้รู้สึกตัวนี่ เราเคี้ยวเราก็รู้สึกตัว เราเคี้ยวนี่ก็ให้รู้สึกว่าเราเคี้ยว เราเคี้ยวนับว่าเราเคี้ยวกี่ครั้ง กลืนก็ให้รู้สึกว่ากลืน กลืนลงไปถึงไหน ๆ ถึงลำไส้ กระเพาะนี่ เราก็ให้มีสติตลอด ถึงว่าเราเอาเข้าไปใหม่ก็รู้ เวลาหยิบก็ให้มีสติ ให้มันหมุนอยู่ในความเคลื่อนไหวของเราจริง ๆ ในเมื่อมันหมุนอยู่ในความเคลื่อนไหวของเราจริง ๆ แล้ว โอกาสที่มันจะออกไปนอกธรรมนอกวินัยไม่มี ใจของเราอยู่กับธรรมจริง ๆ อยู่กับธรรมอยู่กับวินัยจริง ๆ อยู่กับธรรมวินัยนั้นก็คือ อยู่กับตัวของเรานี่หละ ออกจากตัวของเราแล้ว ออกจากธรรมวินัยทีเดียว

ลำดับที่ 009 เลขที่เทป 136/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 29091923 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2529
คำว่าปล่อยใจ วันหนึ่ง ๆ เรามีการปล่อยใจกันกี่ครั้ง ตั้งแต่ลุกขึ้นมาจนกระทั่งไปบิณฑบาตแล้วก็กลับมา หลังจากฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างขาดสติกี่ครั้ง เราจะต้องสังเกตดูและตรวจสอบอารมณ์ ตรวจสอบจิตใจของเรา การปล่อยสติการลืมตัว คือการขาดความเป็นสมณะ ถ้าหากว่าเราไม่มีสติซะเลย ความเป็นสมณะจะเอามาจากไหน แล้วการที่จะก้าวเข้าไปถึงความเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จะมีโอกาสก้าวเข้าไปถึงได้อย่างไร พากันระมัดระวังให้มากนะ ตลอดทั้งกินตลอดทั้งถ่าย ล้างบาตรล้างพก เอาบาตรไปเก็บบาตรหรือว่าตลอดถึงอาบน้ำสรงน้ำสรงท่า ทำข้อวัตรปฏิบัติใด ๆ อย่าปล่อยจิตอย่าปล่อยใจ ปล่อยจิตปล่อยใจแล้วจะเอาอะไรเป็นสมณะ

ลำดับที่ 010 เลขที่เทป 999/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281105 วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
ธรรมในที่นี้ หมายถึงสติก็เป็นธรรมะ ใจของเราถ้าหากว่าขาดสติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองแล้ว ใจของเรานี่ชอบจะผลิตอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ใคร่จะถูกต้องนัก ใจของเราในเมื่อมีสติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองแล้ว จะนึกจะคิดจะอะไรต่อมิอะไรนี่ ชอบอยู่ในขอบเขตของความเป็นธรรม ธรรมะเป็นสติเครื่องคุ้มครองจิตใจ จึงว่า เราควรฝึกใจของเราให้มีสติ จะนั่งอยู่ก็ให้มีสติระลึกว่าเรานั่ง เราจะลุกก็ให้มีสติว่าเราลุก เราเดินก็ให้มีสติว่าเราเดิน ให้มีสติทุกอิริยาบถให้มีสติเป็นประจำ ไม่ลืมไม่ขาดสติ ในเมื่อเราไม่ลืมไม่ขาดสติ เราจะอยู่ในอิริยาบถใด เรามีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองใจเรา เพราะจิตมีสติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองนั้นจะไม่เสียหายได้ เพราะสติจะบัญชาจิตใจของเรา ให้มีความคิดความอ่านไปในทางนอกลู่นอกทางนอกธรรมนอกวินัยไม่ได้ มีแต่ที่จะตรงแน่วต่อธรรมต่อวินัยต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงให้พากันฝึกสติ ทำให้ใจของเรามีสติเป็นประจำ นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็ให้มีสติ มีสติอยู่ที่จิตมีสติอยู่ที่ใจของเรานั่น

ลำดับที่ 011 เลขที่เทป 999/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281105 วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528
เราจะเหลียวซ้ายเหลียวขวาก็ให้มีสติว่าเราเหลียวซ้ายเหลียวขวา มือเท้าของเรามีการขยับเขยื้อนทางมือทางเท้านั้น เราจะมีการขยับเขยื้อนส่วนทางร่างกายทางไหน ก็ให้มีสติรู้การขยับเขยื้อนร่างกายของเรานั้น คนเราถ้าหากว่ามีสติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองจิตใจอยู่ เป็นคนเรียบร้อยงดงาม งดงามในทางเรียบร้อย งดงามในทางมรรยาท ถ้าหากว่าไม่มีสติแล้ว แม้แต่เดินก็ไม่รู้จักว่าเจ้าของเดิน พูดก็ไม่รู้จักว่าเจ้าของพูด เดิน ตึ่ง ๆ ตั้ง ๆ เท้ากับหู มันก็อยู่ด้วยกันอยู่ใกล้กัน บางทีคนอื่นเค้าอยู่ตั้งไกลเค้าก็ยังได้ยินว่าเดินดังจริง ๆ ไอ้เท้ากับหูมันก็อยู่ใกล้กันห่างกันก็ไม่เกินสี่ศอก อยู่ใกล้กันขนาดนี้มันก็ยังไม่ได้ยินว่าเจ้าของเดินดังนะ คนเค้าอยู่ไกลตั้ง 10 วาว่า โอ้ ใครเดินนะ บางทีเหลียวไปดู เจ้าของหนะไม่รู้ว่าเจ้าของเดินดังเสียอีก เพราะการเดินไม่มีสิต จึงว่าสติเป็นธรรมเครื่องประดับคนให้งาม คนไม่มีสติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองจิตใจแล้ว ถ้าหากว่าไม่มีซะเลยหละ เรียกว่าคนบ้า