วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คลิปวีดีโอ หลวงตาและหลวงปู่เพียร

หัวข้อย่อย 17 การจำพรรษา การสัตตาหะในระหว่างพรรษา

หัวข้อย่อย 17 การจำพรรษา การสัตตาหะในระหว่างพรรษา

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250717 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
การจำพรรษา ถ้าหากว่าไม่ใช่ฤดูพรรษา จะไปไหนมาไหนค้างคืนค้างแรมที่ไหนได้ แต่ในพรรษาสามเดือนนี้ ให้มีการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง สถานที่จำพรรษานั้นให้มีหลังคากันแดดกันฝน ให้มีฝากั้น ให้มีประตูปิดเปิดได้ ในสถานที่นี้ในลักษณะนี้เป็นสถานที่ทรงอนุญาตให้อยู่จำพรรษา การจำพรรษามีการอธิษฐานกัน อธิฐานก็คือตั้งใจไว้ มีความแน่วแน่ ฤดูพรรษาสามเดือนนี้ จะจำพรรษาจะอยู่ในอาวาสที่นี่ตลอดไตรมาสสามเดือนไม่ขาด แล้วก็รักษาความสัตย์ที่ได้ตั้งไว้นี้ คือไม่มีการไปไหนมาไหน ถือว่าจะมีการไปด้วยกิจก็ไม่ไปค้างแรมที่อื่น ไม่ไปค้างคืนที่อื่น ถือว่าจะมีธุระมีความจำเป็นจะต้องไปกลับจนกระทั่งค่ำคืนก็ช่าง แต่ถือว่าจะดึกดื่นก็ช่าง ไม่ให้ถึงวัดหลังอรุณขึ้น แสงอรุณออกให้เข้ามาก่อน เข้ามาถึงวัดก่อนอรุณหรือแสง ลักษณะแสงสว่างปรากฏขึ้นมา ถ้าหากว่าเข้ามาหลังแสงอรุณสีขาวออกแล้ว เรียกว่าการจำพรรษาของเราขาด

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250717 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
ท่านให้ตกลงขอบเขต เขตของการจำพรรษากัน วัดเราก็เป็นอันว่าตกลงกันอยู่แล้ว มีเครื่องหมายคือกำแพงล้อมอยู่ภายในกำแพงนี้ นอกกำแพงก็ถือว่านอกเขตอาวาส เราจะมีการออกไปด้วยกิจธุระอันใดก็ช่างให้กลับมาเสีย อย่าให้ถึงกับว่าล่วงราตรี ถ้าหากว่าเวลากลางวันเวลากลางคืนไม่ใช่เวลาใกล้อรุณที่จะออกมา จะไปที่ไหนอยู่ที่ไหน พักที่ไหน เล่นป่าเล่นดง เที่ยวป่าเที่ยวดงดูร่มไม้ภูเขาได้ทั้งนั้น ไปได้ตามสะดวกตามอัธยาศัย เรื่องการกำหนดเขตแล้วก็ให้มีการตั้งความสัตย์กัน


(จบแล้วครับ หมดแล้วครับ ข้อวัตรปฏิบัติ ที่ผมได้บันทึกเก็บไว้ ส่วนข้อวัตรจริง ๆ นั้น ยังมีอีกมากมายนักที่ไม่ได้จดไว้ครับ)

หัวข้อย่อย 16 การเป็นผู้ไม่สะสมของใช้บริขาร เงินทอง การพอใจในบริขารที่มีอยู่

หัวข้อย่อย 16 การเป็นผู้ไม่สะสมของใช้บริขาร เงินทอง การพอใจในบริขารที่มีอยู่


ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 999/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281211 วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2528
แม้แต่ยินดีที่ผู้อื่นเก็บไว้เพื่อเจ้าของ อันนั้นก็ยังเป็นโทษ ท่านจึงทำแม้แต่เขาถวายท่าน ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นของท่าน ให้เป็นของส่วนรวมไว้แล้ว ก็ต้องการให้เป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะเห็นว่าการทำอย่างนี้เป็นธรรมเป็นวินัยที่สุด เป็นธรรมเป็นวินัย ในเมื่อเรามาคิดบางแห่งบางสถานที่ พระเณรมีแต่กังวลเรื่องเงินเรื่องทอง กังวลว่าคนนั้นเก็บ กังวลอยู่กับคนเก็บ บางทีพระเณรกับคนเก็บก็ขัดกันทะเลาะกันผิดกันก็มี เนื่องจากว่าพระก็คิดว่า สมมติว่ามีเงินอยู่สักร้อยบาทแต่โยมผู้เก็บว่าไม่ถึง อันนี้ที่พูดนี่ มันได้เห็นกับตาได้ยินกับหูนะ เพราะเรื่องเหล่านี้ก็เรียกว่าเราก็เกิดมานานพอสมควร มันเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ก็ในเมื่อเราปฏิบัติเพื่อที่จะฆ่ามันแล้ว เราจะไปหวงมันไว้ทำไม

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281211 วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2528
จึงว่าอยากให้พากันรักษาไว้ให้ดี ที่ครูบาอาจารย์ท่านวางเอาไว้ ที่ได้ทำกันมาแต่ก่อน ๆ นี่รู้สึกว่าเรียบร้อยดี ถ้าหากว่าจะเทียบกับบางแห่ง พูดก็จะเป็นการตำหนิ เก็บไว้กุฏิใครกุฏิมันก็มี ยัดไว้ตรงนั้นยัดไว้ตรงนี้ ก็ให้คนถือเคร่งอยู่ดอก ถือเคร่งไม่จับ ให้คนนั้นมาไว้ให้คนนี้มาไว้ เวลาจะเอาก็ให้คนนั้นมาเอาให้คนนี้มาเอา กลายเป็นยุ่งแต่เรื่องเงิน ถ้าหากว่ามีมากซักหน่อยแต่ละองค์ ๆ มีบัญชีฝากในธนาคารกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่จะทำลายกิเลส มันส่งเสริมพอใจในการที่จะให้กิเลสมันฟู มันจะพอเป็นเมื่อไรมันจะอิ่มเป็นเมื่อไหร่ไอ้คำว่ากิเลส กิเลสของพระกับกิเลสของชาวบ้านมันก็กิเลสอันเดียวกันนั้นหละ มีสิบมีร้อย มีร้อยทีนี้หละก็ต้องการให้มันถึงพัน มีพันแล้วทีนี้มันก็ต้องการให้อะไรต่ออะไรเพิ่มขึ้น ซึ่งความจำเป็นไม่เห็นจะจำเป็นอะไรที่จะต้องไปสะสม

หัวข้อย่อย 15 การขอนิสัย การกราบการไหว้ การแสดงความเคารพตามพรรษา

หัวข้อย่อย 15 การขอนิสัย การกราบการไหว้ การแสดงความเคารพตามพรรษา

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 080/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290627 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2529
การให้นิสัย การขอนิสัย นิสัยแปลว่าที่พึ่งพิง มันเป็นธรรมดา เป็นไงที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน การขอนิสัยก็คือขอความพึ่งพิงขอพึ่งพาอาศัยกัน จะบุคคลใดหรือว่าสังวาสใด ๆ มีการขอนิสัย ไม่ผิด ถ้าหากว่าไม่ขอผิดไหมนี่ อันนี้ก็คิดเอาเอง อันนี้บรรดาเรา ๆ ก็เหมือนกันทั่วไปนี้ ที่เรียกกันว่าสามมติกันว่าพระคณะธรรมยุต จะไปอยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความเป็นธรรมเป็นวินัย แต่สมมติเรียกกันว่าเป็นคณะมหานิกายจะไปขอนิสัยก็ไม่ผิด ทำไมจะไม่ผิด ก็เพราะขอพึ่งพาท่านนี้นิสัยแปลว่าพึ่งพิง พึ่งพาอาศัยกัน ในเมื่อเราไปอยู่กับท่าน ก็พึ่งพาอาศัยท่านอยู่แล้ว แต่ทำเพื่อให้มีความแสดงว่า เจ้าของมีความอ่อนน้อม มีความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมนี้เป็นธรรมเป็นวินัย

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 118/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2529
การไปมาหาสู่นี้ต้องรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องรู้จักผู้น้อย เราเป็นผู้น้อยไปหาผู้ใหญ่ ต้องแสดงความอ่อนน้อม มีความเคารพ มีการกราบการไหว้ อย่าถือว่าเป็นอันเดียวกันนี้ ให้มีความอ่อนน้อม ไม่มีความเคารพความคารวะซึ่งกันและกัน ไม่มีแล้จะเอาอะไรเป็นข้อปฏิบัตินี่ แล้วจะเอาอะไรเป็นข้อปฏิบัติที่แก้ไขความแข็งกระด้างของเรา การกราบการไหว้การแสดงความอ่อนน้อมซึ่งกันและกัน ก็เป็นการแก้ความแข็งกระด้าง เป็นการแก้ทิฐิมานะของเรา ซึ่งมันฝังลึกอยู่ในจิตในใจ ต้องแก้ด้วยข้อปฏิบัติ ต้องแก้ด้วยการทำความอ่อนน้อม

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 011/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 261220 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2529
ให้มีความเคารพในธรรมในวินัย ให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน อย่าเอาแต่ทิฐิมานะ หลักพระวินัยท่านกล่าวเอาไว้ พระผู้มีพรรษายิ่งหย่อนกว่ากันสามพรรษา ให้มีความเคารพกัน พูดถึงกันว่าการใส่รองเท้านี่ต้องให้มีความคารวะความอ่อนน้อม มีการกราบการไหว้ แม้แต่พรรษาเดียวกันก็ชั่งเรื่องเหล่านี้เป็นของสำคัญ ให้มีความนอบน้อมให้มีความเคารพในสภาพความเป็นผู้น้อย คำว่านอบน้อมคำว่าอ่อนน้อมเป็นธรรมเป็นเครื่องประดับผู้ปฏิบัติธรรมให้มีความงดงาม ผู้ใหญ่ก็ให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นธรรมเป็นวินัย มีความเคารถในความเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยก็ให้มีความเคารพในความเป็นผู้น้อยนี้ก็เป็นความเจริญของพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่ามีแต่ความแข็งกระด้างมีแต่ทิฐิมานะ ความเจริญของพระศาสนานี่มองไม่เห็นแต่ทิฐิมานะมีแต่ฟืนแต่ไฟ ร้อนรนอยู่ในจิตในใจเท่านั้น ถ้าหากว่าไม่มีความเป็นธรรมเป็นวินัยในใจของเรา
ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 036/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281014 วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2528
ส่วนมากการกราบการไหว้ไม่ค่อยจะมีสติสตังกัน จะมีจิตมีใจในการนึกนอบน้อมในจิตในใจ บางทีมันมองไม่เห็น แล้วจะเอาอะไรเป็นเครื่องกราบไหว้แล้วจะเอาอะไรเป็นเครื่องกราบพระ ถ้าหากว่าไม่มีจิตมีใจทำความนอบน้อมด้วยการกราบไหว้ ด้วยความนอบน้อมในจิตในใจจริง ๆ เรื่องการกราบการไหว้นี่มันเป็นการเปิดเผย เรื่องของแต่ละคน ๆ ๆ นี่ออกมาอย่างชัดที่สุด เรื่องการกราบการไหว้นี่เป็นเครื่องวัดออกมาอย่างชัดภายในจิตใจ การกราบก็กราบเป็นประเพณี ย๊อก ๆ แล้ว อะไร ๆ มันก็เป็นประเพณี ๆ ไปหมด หนักเข้ามันก็แล้วไป ๆ ๆ นี่พระสาสนาเป็นเพียงแต่แค่นี้

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290711 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
เณรเถรให้มีความเคารพนอบน้อมกับพระ อย่าแข็งกระด้างอย่าตีเสมอ อันนี้ให้เข้าใจความแข็งกระด้างความตีเสมอกับพระกับเจ้า อันนี้เป็นการกระทำเพื่อทำลายเจ้าของเอง ไม่มีทางที่จะไปได้ ไม่มีทางที่จะตลอดรอดฝั่ง หลังให้อ่อน พอก้มให้ก้ม พอกราบพอคลานให้คลาน มือให้อ่อนพอยกให้ยก พอไหว้ให้ไหว้ ทำมือให้เบาอย่าทำมือให้หนักเหมือนกับโลกทั้งโลกมันถ่วงเอาไว้นี่ พระก็เหมือนกัน ถึงว่าจะพรรษาเดียวกัน ก็ให้มีความเคารพกันตามก่อนตามหลัง พรรษายิ่งหย่อนกว่ากันแม้แต่หนึ่งสอง ก็ให้มีความเคารพกัน ไม่เสียหายตรงไหนเลย นี่แม้แต่พรรษาเดียวกันแต่บวชก่อนบวชวันเดียวกัน บวชวันเดียวกันมีอาวุโส เรียกว่า นาคซ้ายนาคขวา รึว่าอาวุโสกว่ากันชั่วขณะไม่กี่นาที ก็ให้เคารพกัน คำว่าตีเสมออย่าให้มี ผมเห็นท่านเจ้าคุณอาจารย์ลีกับท่านอาจารย์กงมานี่ ท่านเคารพมาก อย่างมีการไปประชุมอย่างนี้ที่ไหนอย่างนี้ เขาจะปูอาสนะนี่ อาสนะอาจารย์อยู่ในระดับเขาจะต้องปู แต่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ลีไม่ยอมนั่ง อันนี้เป็นมรรยาทที่ประเสริฐสุดท่านมีความเคารพมีความอ่อนน้อม ความเคารพความนอบน้อมมันผู้มีธรรมแสดงออกมา ความแข็งกระด้างมันก็เรื่องของคนที่ไม่มีธรรม ของคนที่มีกิเลสแสดงออกมา

หัวข้อย่อย 14 การใช้ห้องน้ำ

หัวข้อย่อย 14 การใช้ห้องน้ำ

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 133/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290916 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2529
เรื่องในการปฏิบัติเวจกุฎีในเรื่องส้วมห้องน้ำห้องส้วมนี้ ท่านสอนให้รักษาความสะอาดนี้ ภิกษุผู้ที่จะเข้าไปใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม ให้ทำความสะอาดทุกครั้งที่จะเข้าไปใช้ ให้มีการปัดตาดข้างในทุกครั้งที่เข้าไปใช้นี้เดี๋ยวนี้ล้าสมัยเมื่อไหร่ บริเวณรอบนอกอย่างนี้ คล้ายกับให้ปัดตาดเสมอนี้ไม่ให้รกรุงรัง แล้วน้ำท่าให้มีประจำ น้ำท่าในห้องน้ำห้องส้วมให้มีประจำ ถ้าหากว่าพระองค์ใดองค์หนึ่งเห็นน้ำ เข้าไปในห้องน้ำห้องส้วมเห็นน้ำไม่มี ถ้าหากว่าสามารถที่จะไปตักเอามาได้ผู้เดียวก็ตักมาใส่ไว้ ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะไปตักขนมาผู้เดียวก็ให้ ๆ บอกหมู่ การบอกหมู่นั้นไม่ใช่จะไปตะโกนเรียกเอา ถ้าหากเห็นใครคล้าย ๆ กับว่า พอที่จะกวักมือได้ก็ให้กวัก ถ้าหากว่ากวักมือไม่ได้ก็หมายความว่าให้เดินไปใกล้ ๆ แล้วก็บอกให้เข้าใจนี้ ท่านให้รักษาความสงบกันจริง ๆ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องน้ำห้องส้วมนี้ ใครเข้าไปทำความสะอาดเจอใครเข้าไปทำความไม่สะอาดสกปรกไว้ด้วยประการใด ๆ ก็ช่าง ถ้าหากว่าใครเข้าไป พระภิกษุเข้าไปทีหลัง ถ้าหากว่าเห็นมันสกปรกแล้วถือว่าเจ้าของไม่ได้ทำสกปรกนี้ก็ละเลยเสีย พระพุทธเจ้าท่านก็ปรับอาบัติเป็นทุกกฎนี้ เรียกว่าปรับโทษนี้ ใครก็ช่าง ในเมื่อไปทำความไม่สะอาดนี้ ใครไปเห็นผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ทำความสะอาดเสีย

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250711 วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
การปฏิบัติในส้วมในที่ถ่าย เรียกว่า เวจกุฏีวัตร การปฏิบัติในห้องน้ำห้องส้วมก็เป็นวัตร ให้พากันมีข้อปฏิบัติในเจกุฏี เป็นวัตรอย่างหนึ่ง เป็นวัตรข้อหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นการสร้างวัตรอย่างหนึ่งก็ได้ ทุกครั้งที่เข้าไป ท่านบอกให้มีการปัดการกวาด หลังจากเสร็จกิจให้มีการปัดการกวาด ให้มีการเช็ดการถู เหลียวดูให้ทั่วถึง ตรวจดูความเรียบร้อย มีความสะอาดสะอ้านดีแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าสามารถที่จะทำคนเดียวได้ก็ทำคนเดียว ถ้าหากว่าไม่สามารถก็เรียกว่า หาหมู่หาเพื่อนมาช่วยทำ เช่นมีการตักน้ำหรือว่ามีการยกอะไร ที่คนเดียวทำไม่ไหว แม้แต่การบอกกันหาหมู่หาเพื่อน ท่านก็ไม่ให้ใช้เสียงดังให้พูดกันค่อย ๆ เพียงแต่ว่าให้ได้ยินกัน ถ้าหากว่าไกลไม่สามารถที่จะใช้เสียง ก็ให้ใช้มือกวักเหล่านี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนาสอนไว้ทั้งนั้น

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250711 วันที่ 11 กนกฎาคม พ.ศ. 2525
ห้องน้ำห้องส้วมใช้ให้รักษาความสะอาดกันทุกครั้ง ไม่ใช่ลักษณะแล่นเข้าไป แล้วกิจแล้วก็แล่นออก ทำความสะอาด สะอาดดีหรือไม่ ไม่สนใจ น้ำมีหรือไม่ไม่สนใจ บางทีน้ำมันขาดบ้าง บางทีน้ำมันไม่มี เพราะมันไหลน้อย หรือบางทีน้ำมันไม่ไหล ก็ต้องสนใจอย่าให้มันขาด นี่หละข้อวัตร นี่หละศาสนาอยู่ตรงนี้ ปฏิบัติที่ขี้เยี่ยวก็ยังไม่ได้ แล้วจะไปปฏิบัติพระศาสนาได้อย่างไร

ข้อวัตรปฏิบัติ 13 ข้อวัตรส่วนตัวที่กุฏิ กวาดถูกุฏิ เอาเสื่อหมอนตากแดด ฯลฯ

หัวข้อย่อย 13 ข้อวัตรส่วนตัวที่กุฏิ กวาดถูกุฏิ เอาเสื่อหมอนตากแดด ฯลฯ

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 091/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290714 วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
ผ้าอาบน้ำ ถ้าหากว่าจะตากแดดก็ตากพอสมควร อย่าตากจนกระทั่งถึงว่าตอนเย็นจะอาบน้ำจึงไปเอามาใช้ อย่าเป็นอย่างนั้น ตากพอสมควร ตากผึ่งให้มันมีความอบอุ่นนิดหน่อยแล้วก็เก็บให้เรียบร้อย จีวรก็เหมือนกัน ผึ่งนิดนิดเดียวถ้ามีแดด แล้วก็เก็บให้เรียบร้อยเป็นที่เป็นทาง จีวรก็หมายถึงเครื่องนุ่งเครื่องห่มนั้น ๆ เรียกว่าจีวรทั้งนั้น เสื่อสาดนี้ถ้าหากว่ามันหลายวันมีแดด แล้วเอาไปตากเสียบ้าง หมอนก็เหมือนกัน เอาไปตากแดดเสียบ้าง เราต้องเป็นผู้ที่ละเอียดเป็นผู้ที่รักษาสุขภาพ เป็นผุ้ที่รักษาอนามัย เป็นผู้ที่รักษาความสะอาดให้มาก

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 091/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290714 วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
กระโถนภายในกุฏิ อย่างน้อยต้องล้างวันละครั้ง อย่างน้อยต้องเทวันละครั้ง ถึงว่าจะไม่มีอะไร มีแต่น้ำลายของเรา บ้วนไปครั้งสองครั้ง ก็ควรที่จะไปล้างให้สะอาดอยู่ในกุฏิ อยู่บนกุฏิ ไม่ควรที่จะบ้วนน้ำลายลงข้างล่าง การที่จะบ้วนน้ำลายลงข้างล่างต้องดู จะไปบ้วนใส่หิน บ้วนใส่ในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร อย่าง ๆ เป็นอย่างนั้น ถึงว่าจะอยู่ตามพื้นก็เหมือนกันที่มันเป็นพลาญหิน เป็นหินหรือเป็นสถานที่ไปหาบ้วนน้ำลายทิ้งอันนั้นอันนี้ใช้ไม่ได้

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

12 การพักผ่อนหลับนอน

12 การพักผ่อนหลับนอน
ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 140/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290923 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2529
การพักผ่อนหลับนอน ก็ให้ตั้งใจเอาไว้ รู้สึกเมื่อไรจะลุกทันที ให้ตั้งใจเอาไว้ และในเมื่อรู้สึกลุกทันที ถ้าไม่ตั้งใจแล้วหากมันนอนต่อไม่ได้ เรื่องได้แต่นอน ต่อไปนี้อากาศมันแห้ง ฝนมันแล้งแล้ว เดินจงกรมแล้ว นั่งตามร่มไม้หรือเอาเสื่อเอาสาดไปนอนตามร่มไม้ก็ได้ มันไม่ชื้นไม่สบาย ถ้าหากยุงหรือริ้นมันมาก เอากลดไปกางตรงโน้น ตรงนี้ก็ได้เข้าก็เก็บ ชอบทำอย่างนั้นแต่ก่อน เอากลดไปกางตรงนั้นบ้าง ตรงนั้นบ้างเวลายุงมันชุม เดินจงกรมแล้วก็นั่งสมาธิ ในกลด นอน บางทีเก็บบางทีก็ไม่เก็บ ถ้าหากที่มิดชิดบัง ๆ เสียหน่อย ก็ไม่ต้องเก็บ มันเปิดเผยต้องเก็บ

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240904 วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2524
อิริยาบถนอนหลังจากที่เรานั่งเป็นที่พอใจของเรา รับผลเป็นที่พอใจของเรา พักผ่อน ระหว่างพักผ่อนนั้นก็ไม่ใช่เลิกการภาวนา คำว่าพักผ่อนไม่ใช่เลิกการภาวนา ภายในจิตใจในใจนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังใสอยู่ ยังสงบอยู่ ยังชัดอยู่ นี่ คำว่าใส คำว่าสงบนี่ก็หมายถึงว่าใจของเรายังมีสติ ยังมีสติไม่มีการเคลื่อน ไม่ขาดวรรคขาดตอน ยังมีความรู้ มีความเห็นอยู่ในความสงบ ยังมีความรู้ มีความเห็น ยังมีสติอยู่ในจิตในใจของเราอยู่ นี่ เราเอนตัวลงนอนก็ให้มีสติ ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน นอนก็ให้มีสติในการนอน ตั้งใจเอาไว้แล้วนี่ มีสติรู้สึกขึ้นมาเมื่อไหร่เราก็จะบุกขึ้นมานั่งสมาธิต่อเมื่อนั้น แล้วก็นอนให้หลับไปเลย หลับอยู่อย่างมีสติ เวลารู้สึกขึ้นมา ลุกขึ้นมานั่งสมาธิทันที ไม่ยอมพลิกอิริยาบท ไม่ยอมพลิก ไม่ยอมขยับ ถ้าหากรู้สึกขึ้นมาแล้วพลิกซ้ายพลิกขวา บิดนั่นบิดนี่ ชอบหลับต่อ ถ้าหากรู้สึกขึ้นมาแล้วลุกขึ้นเลยนี่

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 057/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290511 วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
พักผ่อนพอสมควรกลางค่ำกลางคืนมา พักผ่อนพอสมควร ก่อนที่จะนอนพักผ่อน ก็ต้องตั้งใจเอาไว้ รู้สึกตัวเมื่อไรเราจะลุกขึ้นเมื่อนั้น แล้วก็ลุกขึ้นจริง ๆ ชำระความง่วงเหงาหาวนอน ด้วยการเดินจงกรม กลางค่ำกลางคืนมา ตีสองตีสามให้เห็นแสงฟืนแสงไฟ เดินจงกรมตรงนั้นเดินจงกรมตรงนี้ เป็นการเตือนซึ่งกันและกัน ถ้าหากว่าฝนไม่ตกไม่รินนี้ กลางค่ำกลางคืนนี้อย่าพากันหมกมุ่นอยู่ในที่นอนมากนัก ทางเดินจงกรมมีให้อยู่กับทางเดินจงกรมให้มาก ชาคิยานุโยค เป็นผู้ที่ตื่นอยู่ในการประกอบความพากความเพียรหลังจากเดินจงกรมแล้ว นั่งภาวนาก็นั่งตามก้อนหิน นั่งตามดานหินเรียบ ๆ เอาเสื่อไปปูเสื่อก็พับครึ่งเสียเนื้อเก่า ๆ พับเสื่อเก่า ๆ อันนี้ดีที่สุด ถ้าหากว่ายุง ๆ ริ้นไม่ชุมมาก เราจะนอนตามก้อนหินก็ได้ หมอนไม่ต้องไปสนใจมัน มันแต่นั่งมันก็ยังหลับ ถ้าหากว่าที่นอนที่นอนดีนอนหมอนมันดี บางทีมันตื่นแล้วมันก็ยิ่งอยากจะต่ออีก นอนไม่มีหมอนเอาหินทำหมอนอย่างนั่นนะ มันนอนนานมันเจ็บหัวมันก็ดี

ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 999/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290808 วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529
นอนก็ตั้งใจ นอนตะแคงข้างขวาอยู่กับอารมณ์ของธรรมคือความสงบ นอนก็นอนปฏิบัติให้หลับไปด้วยการปฏิบัติ นอนหลับไปตื่นขึ้นตั้งใจจะลุกทันที หนึ่ง สอง สาม ลุกนับซะก่อนตั้งใจนับไม่ให้มันเกินสามจะลุก บางทีมันยังโอ๊ย นับช้า ๆ สักหน่อยเถอะ ขนาดบีบบังคับว่า นับหนึ่ง สอง สาม ลุก บางทีมันนับช้า ๆ แหนะ มันขนาดนั้นหนะ น้อยมันก็ยังเอาจนได้นั่นหละ ถ้าหากว่ามันบอกให้นับช้า ๆ เรายิ่งนับเร็วขึ้นนี้ การชนะกิเลสมันชนะอย่างนี้ รู้สึกมาหนึ่ง สอง สาม บางทีมันบอกนับช้า ๆ สักหน่อย ยิ่งนับเร็วเป็นการบังคับเรา เพราะเราได้ตั้งใจไว้แล้วรู้สึกมาจะลุกนั่งภาวนาต่อไป ถ้าหากว่ามันมืดมนอนธการ ง่วงเหงาหาวนอนงัวเงียลุกไปดูเดือนดูดาว ลุกไปข้างนอกเดินไปรอบวัดรอบวา หายหมด ความง่วงเหงาหาวนอนไม่มีหรอก

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250711 วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
การพักผ่อนหลับนอน กลางวันนี่ไม่พักผ่อนหลับนอนก็ดี ถึงว่าจะมีการพักผ่อนหลับนอน ก็อย่าให้มากมายนัก ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นพอ เว้นไว้แต่ร่างกายเกิดป่วยเกิดไข้ ถ้าหากว่าเป็นปรกติแข็งแรง ไม่มีโรคภัยอะไร กลางวันนี่ไม่จำเป็นที่จะต้องพักผ่อนหลับนอนอะไร ฉันจังหันแล้วก็เดินจงกรมจนกระทั่งเที่ยง

ลำดับที่ 006 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290721 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
ถึงว่าจะนอนตามร่มไม้นอนตามลานหินก็นอนได้ อย่างนั้นดี นอนประเดี๋ยวประด๋าว บางทีนอนยังไม่ทันหลับมันก็ลุก นี่ให้อยู่อย่างนั้น เป็นการที่หาทางที่จะให้เจ้าของตื่นให้มาก เข้าไปในที่นอนเข้าไปในกุฏิแล้ว นี่มันเห็นแล้วมันอดที่จะอยากนอนไม่ได้ พยายามห่าง ๆ พยายามหลีก ๆ ไว้หละดี เวลานอนก็ให้ตั้งใจไว้ รู้สึกเมื่อไรจะลุกทันที จะลุกไปเดินจงกรม ตั้งใจไว้รู้สึกขึ้นมา จะลุกไปเดินจงกรมถ้าฝนไม่ตก มันง่วงเหงาหาวนอน ล้างหน้าล้างตาเสียก่อน เดินจงกรมเหลียวดูฟ้าเหลียวดูดาวดูเมฆ เหลียวดูไปยังงั้นหละ เหลียวดูต้นไม้ถึงกลางคืน มันมืดเราก็เห็น ตาเหลียวดูอะไรใจของเราก็รับรู้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น สิ่งที่เรารับรู้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้นนั่นหละ มันจึงจะเป็นอุบายให้เราคิดเราอ่าน ทำให้เราเกิดความรื่นเริง หายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ นี่ก็เป็นการแก้ความง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างหนึ่ง อย่าไปรีบทำใจให้สงบ ไม่อยากดูอะไรให้กว้างขวางออกไป มีแต่จะทำใจให้สงบ มีแต่จะบังคับใจให้สงบ นี่ เวลามันสงบจริงหละ มันก็กลายเป็นหลับไปเสีย เนื่องจากการชำระด้วยอุบายยังไม่พอ ถ้าหากว่ามีการชำระด้วยอุบายด้วยคิดพิจารณาพอแล้ว ใจสงบลงไปแล้ว นี่นั่งอยู่หมด คืนก็ไม่ง่วง อย่าว่าอยู่สองชั่วโมง สามชั่วโมงนั่งหมดคืนก็ไม่ง่วง

ลำดับที่ 007 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290721 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
จึงว่าการชำระสะสางความง่วงเหงาหาวนอนนี่เป็นประโยชน์ ให้พอใจในการชำระสะสางให้มาก อย่า
ไปพอใจในการที่จะไปบังคับใจให้สงบ ถ้าให้สงบลงไปโดยไม่มีการชำรำสะสางนี่ สงบลงไปมันก็มืด สงบลงไปมันก็มีแต่อยากหลับ เวลารู้สึกตัวขึ้นมา มันก็เหมือนกับคนนอนหลับ ตื่นแต่ก็เบิกบาน แต่ก็มีปิติอยู่สบายอยู่ สงบแล้วหลับรู้สึกตัวมาก็สบายอยู่เบาเนื้อเบาตัวสบาย ผิดกับหลับปรกติอยู่ เวลาภาวนาเวลาจิตมันสงบมันหลับไปเลย รึว่าขาดสติ เวลามีการรู้สึกตัวขึ้นมาอย่างนี้ จะมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า เบิกบานผิดกับที่เราหลับธรรมดาอยู่ ผิดกับที่เราธรรมดาหลับจริง ๆ แต่ไม่ควรที่จะให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นบ่อยหละมันติด การที่จะแก้จิตแก้ใจต้องแก้ด้วยอุบาย แก้จิตแก้ใจต้องแก้ด้วยอุบาย การค้นคิดพิจารณา

11 ธุดงค์ข้อวัตร 13 ข้อ

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240731 วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

การถืออิริยาบถเว้นจากการนอน เป็นการกลั้นจิตกลั้นใจให้เข้มแข็ง ในเมื่อมีความเข้มแข็ง ทำอะไรจะแจ้งไปหมด กิเลสตัณหามันจะปรากฏขึ้น ในเมื่อใจของเรามีความเข้มแข็งแข็งแกร่งอยู่แล้ว มันจะอยู่เหนือจิตเหนือใจของเราไม่ได้ ท่านจึงสอนกันให้พอใจในการถือธุดงควัตร เรื่องอดหลับอดนอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเมื่อเราถือเนสัชชักแล้ว เรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็ก ถือเรื่องนั่งตลอดคืน ยิ่งได้กำลังมาก ได้มีโอกาสต่อสู้กับทุกขเวทนาที่สุด ทุกขเวทนาอันเกิดจากกการนั่งตลอดคืน สุดยิ่งกว่านั้นไม่มีแล้ว เรามีโอกาสได้ต่อสู้อย่างที่สุดแล้ว

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240731 วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
ผ้านุ่งห่มสามผืน ถือผ้านุ่งห่มบังสุกุลเป็นเครื่องตัดกิเลสทั้งนั้น ตัดความโลภ ความโลภของใจที่เคยเห็นทั้งนั้น เห็นอันนั้นก็อยากได้ เห็นอันนี้ก็อยากได้ อยากได้มาก ๆ เอาความตั้งใจจริงตัดเสีย เรียกว่าตัดด้วยความสัตย์เอาความสัตย์ที่ตั้งไว้ นั่นหละมาตัดกิเลสของเราที่มีอยู่ในจิตในใจไม่ให้มันแสดงออก ถึงมันจะแสดงออก มันก็ต้องถูกระงับไว้ด้วยความสัตย์ความจิรง ด้วยการถือธุดงควัตรของเรา จึงถือว่ามีประโยชน์มากทีเดียว ในเมื่อเราถือแล้วมันก็ทำให้เราเป็นผู้ที่มีความกังวลน้อย นุ่งผ้าห่มสามผืน ใช้ผ้าบังสุกุล ความสวยงามหรูหราก็ไม่มี นุ่งห่มเพราะประดับประดาก็เบาบางลงไป นุ่งห่มเพื่อความสวยงามอันนี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะผ้าบังสุกุลมันเป็นไม่สวย นุ่งเพื่อปกปิดร่างกาย นุ่งเพื่อความเป็นลักษณะโลกเท่านั้น

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 999/24 ชื่อแฟ้มข้อมูล 240731 วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
การบิณฑบาตมาฉัน อย่างนี้มันก็เป็นการตัดเครื่องกังวล บิณฑบาตมาได้น้อยก็ฉันน้อย บิณฑบาต มามากฉันพอดี มันไม่มีเครื่องกังวลใด ๆ เพิ่มเติมแล้ว ทีนี้ ในเมื่อเราฉันพอดีพองาม อิ่มบ้างไม่อิ่มบ้าง มันทำให้ธาตุในตัวเราเบา อาหารไม่มากมันก็ทำให้ไม่หนัก จะทำให้ความง่วงเหงา ความมึนเมาอันเกิดจากอาหารไม่มี โภชะเนนะมันยุตา พระพุทธเจ้าท่านสอนการบริโภคอาหาร ให้รู้จักความพอดี อย่าให้มากจนกระทั่งเกิดความมึนเมา ถ้าหากว่าโภชนียะมันยุตา มันจะพอดีไปหมด ไม่มืดไม่มัวไม่หนัก ไม่หน่วงไม่เหนื่อยไม่เพลีย ไม่เหนื่อยเพราะความพอดี ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลาเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส



ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 016/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290122 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2529
พระพุทธเจ้าท่านยกย่องสรรเสริญมากมาย พระผู้ถือธุดงค์เป็นการบั่นทอนกิเลส พระพุทธเจ้าท่านยกย่องถือการฉันครั้งเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็ยกย่องเป็นการละกิเลสความมักมากนี้ ให้น้อยลงไป เบาบางลงไป การฉันเฉพาะในบาตร ก็เป็นการละกิเลสคือการที่มุ่งรสมุ่งลาภมุ่งเอร็ดอร่อยอะไรเหล่านี้ ตัดตรงนั้นละตรงนั้น ให้มันหมดมันสิ้นไปนี้ แล้วก็ฉันเฉพาะที่บิณฑบาตมาได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ยกย่องขึ้นอีก เป็นการถือธุดงค์อุกฤษ์ขึ้น เป็นการทำลายกิเลสยิ่งขึ้น ท่านยกย่องผู้ที่ถือผ้าสามผืน มีแต่ผ้าสบง มีแต่ผ้าจีวร มีแต่ผ้าสังฆาฏิ สามผืนเท่านี้ ถ้าหากว่าใครสามารถอันนี้เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา หรือว่าถ้าหากว่าไม่สามารถอย่างอุกฤกษ์อย่างนี้ ก็เพียงแต่ว่าให้มันน้อย ๆ ลงไป การใช้บริขารส่วนใด ๆ ก็ให้ตามมีตามเกิด อย่าให้มันเกิดขึ้นมีขึ้นด้วยความขวนขวาย หรือด้วยความอยากของเจ้าของ ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นมีขึ้นด้วยความขวนขวาย ด้วยอำนาจของความอยาก อันนั้นเป็นการได้มาด้วยความมักมากของเจ้าของ

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 013/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290117 วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2529
แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยกย่องสรรเสริญ การเข้าเยี่ยมป่าช้า ส่งเสริมสรรเสริญผู้ที่ถือการเข้าเยี่ยมป่าช้าเป็นวัตร เป็นธุดงค์วัตร เป็นสถานเป็นมงคล เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติธรรม เข้าเยี่ยมป่าช้าเป็นวัตร ประโยชน์ของการเยี่ยมป่าช้าได้ประโยชน์มาก เข้าไปถึงเห็นแต่คนที่ตาย แล้วเอาไปฝัง คนที่ตายแล้วเอาไปฝัง หรือเอาไปเผานั้น ไม่มีอะไรทำให้เกิดความยินดีและยินร้าย ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจเกิดความกำเริบขึ้น เป็นสถานที่มงคล ทำจิตใจให้เข้าถึงความสงบระงับ มีความเป็นธรรม เป็นวินัยได้

ลำดับที่ 006 เลขที่เทป 010/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 260226 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เสวงหาอยู่ตามถ้ำตามเรือนร้างว่างเปล่า อยู่ตามป่าช้า อยู่ในล้อมฟาง อยู่รุกขมูลต้นไม้ อยู่ในที่แจ้ง รู้สึกว่าไม่ได้บอกำสอนนอนในกุฏิ เรือนร้างว่างเปล่าก็คือเรือนเขาทิ้งแล้ว อาจจะเป็นเรือนลักษณะแตกบ้านแตกช่อง หนีบ้านหนีช่อง ให้ไปแสวงหาสถานที่อย่างนั้น แสวงหาอยู่ในรุกขมูลต้นไม้ อยู่รุกขมูลต้นไม้นี้มันสดชื่นแจ่มใสจริง ๆ นอนก็นอนน้อยตื่นมาก อานิสงส์ของการอยู่รุกขมูลต้นไม้ อยู่ในที่แจ้ง อยู่ในป่าช้าก็มีอานิสงส์มาก มีความระแวดระวังมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงว่าพระพุทธเจ้านี้ท่านฉลาด ทางไปทางไหนที่จะไม่นิ่งนอนใจ ไม่ประมาทให้ท่านไปทางนั้น สอนให้รีบเร่ง สอนให้กินน้อยนอนน้อย มันก็คือ แสวงหาอยู่ที่ไกลที่ทุรกันดาร ป่าช้า ตามถ้ำ ตามเหว นอนในที่ดีมันมีความอบอุ่น ความระมัดระวังหน้าระวังหลัง ไม่มีผิดกันมาก อืดอาดความคล่องตัวเบาเนื้อเบาตัวไม่มี

ลำดับที่ 007 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250721 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแต่ก่อน ผมชอบมากเรื่องการถือเนสัชชิกะ ถือเรื่องการไม่นอนนี้ ตั้งแต่แรกตั้งแต่พรรษาหนึ่งทีเดียวผมไม่ขาด ไม่ใช่เฉพาะวันพระเท่านั้น ไม่ใช่วันพระก็มีความอุสาหะ มีความพยายามเอาคนเดียว ขโมยทำนะไม่ให้คนอื่นรู้ ขโมยทำเอา เดินจงกรม นั่งภาวนา เดินจงกรมนั่งภาวนาถึงว่าหลับใหลไปบ้าง แต่ว่าไม่ยอมเอนตัวลงกับพื้นกระดาน ต่อสู้ แต่ถ้าหากว่าวันพระวันเจ้าอย่างนั่นจะเรียกว่า ไม่เคยทีเดียวโน่นหละ

ลำดับที่ 008 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290721 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
เรื่องการถือธุดงค์ให้พากันมีจิตมีใจ ธุดงค์เป็นธรรมเป็นธรรมเครื่องประหารกิเลส เป็นธรรมเครื่องบั่นทอนกิเลส ธุดงค์แต่ละข้อ ๆ เป็นธรรมเครื่องบั่นทอนกิเลสทั้งนั้น ให้พากันสนใจ ให้พากันใคร่ในการที่จะปฏิบัติธุงควัตรนั้น ๆ ธุดงควัตรเป็นธรรมที่จะประหัตประหารกิเลสทุกข้อ อย่าเห็นสิ่งอื่นมีค่ากว่าธรรมคือธุดงควัตร บิณฑบาตเป็นวัตรเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ฉันในบาตรเป็นวัตรเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ฉันอาสนะเดียวเป็นวัตรเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เวลาบิณฑบาตจะฉันเฉพาะที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น จะไม่รับภัตรที่ตามมาทีหลัง อันนี้ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ธุดงค์แต่ละข้อ ๆ เป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสทั้งนั้น เป็นการตัดเครื่องกังวลใจ อันนี้ให้พิจารณาเจ้าของเองสามารถแค่ไหนเพียงไรให้อยู่กับความสมัครใจ เพราะคำว่าธุดงค์เป็นเรื่องของความสมัครใจ พระพุทธเจ้าไม่ได้บีบบังคับให้พากันถือ ไม่เหมือนกับพระวินัย แต่ผู้ที่มุ่งทำลายบั่นทอนกิเลสจริง ๆ ต้องอาศัยธุดงค์นี่เป็นส่วนประกอบอย่างมากมาย

ลำดับที่ 009 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250717 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
การเว้นอิริยาบถนอนเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านพรรณนาเรื่องการถือธุดงค์ไว้มากทีเดียว เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส จึงว่าให้พากันอุตสาหพยายามถึงว่า จะเหน็ดเหนื่อยต้องต่อสู้มากกับความง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้ถือเอาการต่อสู้นั้นหละเป็นอานิสงส์ เรามีจิตมีใจที่จะต่อสู้ดีกว่าไม่มีจิตมีใจที่จะต่อสู้เสียเลย คนไม่มีจิตมีใจที่จะต่อสู้นั่นแสดงถึงความอ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งในใจ ในเมื่อไม่มีความเข้มแข็งในใจ เราก็ควรที่จะสร้างความเข้มแข็งให้มีขึ้น เกิดขึ้นภายในใจของเรา ถ้าหากว่าเราไม่สร้าง มีแต่ที่จะอ่อนแอไปหน้าไม่อยู่ตัวไม่คงที่ อ่อนแอ เดี๋ยวนี้ขนาดนี้มันก็การปฏิบัติมันก็ยังถอยหลังถอยหลัง การที่เรียกว่าจะไปข้างหน้า บางทีมันน้อยกว่าถอยหลังเสียอีก ในเมื่อไปข้างหน้าน้อยกว่าถอยหลัง ก็เรียกว่าความอ่อนแอของเรานี้มากไปหน้า ถ้าหากว่าเราไม่มีความพยายามที่จะต่อสู้ไม่มีความอดความทน ความเข้มแข็งไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เลย

ข้อปฏิบัติ 10 การฉันน้ำร้อน น้ำชา เภสัช หมากพลู บุหรี่

ข้อปฏิบัติ 10 การฉันน้ำร้อน น้ำชา เภสัช หมากพลู บุหรี่

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 080/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290627 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2529
ใช้เวลาฉันต้องการให้น้อยลงไป ต้องการให้ใช้เวลาฉันน้ำร้อนน้ำอุ่นให้น้อยให้สั้น ถ้าหากว่ามีอะไรต่อมิอะไรมันยาว มันยังมีอะไรต่ออะไรอีก ในระหว่างที่ฉันน้ำร้อนน้ำอุ่น ถ้าหากว่ามันอยู่ในสถานที่นั้นมันระยะมันยาว จึงว่ากิเลสมันไม่เต็มเป็นมันไม่ยุติมัน ๆ ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา และมันก้าวทุก ๆ สถานที่ด้วย หลังจากเรียบร้อยแล้ว สถานที่ควรปัดก็ควรปัด ควรเช็ดก็ควรเช็ด ควรถูก็ควรถู เก็บให้เรียบร้อย ใช้เวลาให้สั้นที่สุด เพราะเราบวชคล้าย ๆ กับว่ามุ่งเพื่อประพฤติปฏิบัติ ประกอบความพากความเพียรเดินจงกรม นั่งสมาธิกัน ไม่ใช่จะใช้เวลามารวมกันโดยวิธี โดยลักษณะที่เรียกว่าเอามารวมกัน เรื่องการอยู่การกินกันมากเกินไป ในเมื่อมาถึงแล้วต่างองค์ ต่างองค์ก็ต่างนั่งฉัน ต่างองค์ก็ในเมื่อรับประทานแล้วก็ฉันตามอัธยาศัย จากนั้นถ้าหากว่าไม่เป็นการลำบาก ก็เอาแก้วของเจ้าของไปล้างแล้วเก็บไว้ให้เป็นที่ จะเป็นการแบ่งเบาภาระของเณรผ้าขาวได้บ้าง เณรก็จะได้มีเวลา ผ้าขาวก็จะได้มีเวลาอ่านหนังสงหนังสือ ท่องมนต์ท่องพร หรือว่าข้อวัตรปฏิบัติอันอื่น แม้แต่การถู การขัดกาก็จะมีเวลา เรื่องการถูกาขัดกานี้ บางทีมันไม่มีเวลา ส่วนมากมันไม่มีเวลา กามันจึงดำเหมือนกา ทั้ง ๆ ที่กาแต่ก่อนมันก็ขาว

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 067/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290620 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2529
ถึงเวลาตอนบ่ายสามโมง สองสามโมง มีการฉันน้ำร้อน มีความประสงค์จะฉัน ถึงเวลาให้มา อย่ามา ช้าจนเกินไปเสียเวลาผู้อื่น เสียเวลาทำให้ล่าช้าเพราะเรา ล่าช้าในการเก็บ ล่าช้าในการล้างนี้ ใช้เวลาฉันน้ำร้อนนี้ให้มันสั้น ทำยังไงมันจะสั้น อย่ายืดอย่าให้มันยาว เพราะเวลาของเรา มัน ๆ ควรที่จะเอามาทำเป็นให้เป็นประโยชน์ให้มาก ๆ ไม่ควรที่เอาเวลามาใช้เป็นประโยชน์ในการขบการฉันกันมากนัก หลังจากฉันแล้ว ส่วนมากก็พากันปัดตาดปัดอะไรกัน ปัดตาดนี้พากันตั้งอกตั้งใจ ให้ละเอียดในการปัดการกวาดให้ละเอียด อย่าทำเป็นคนหยาบ ให้พากันรักษา อย่าพากันทอดธุระ ถึงเวลาปัดตาดนี้ ให้พาให้ ๆ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จำเป็นที่สำคัญ อย่าถืออันอื่นมีความจำเป็นยิ่งกว่าการปัดการตาดของเรา

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 999/25 ชื่อแฟ้มข้อมูล 250711 วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2525
การฉันน้ำร้อนฉันอะไรต่อมิอะไรที่กุฏิ ถ้าหากว่าไม่ป่วยไม่ไข้ ควรเลิกอย่าให้มันมี ฉันเฉพาะที่ประชุมก็พอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปฉันที่กุฏิ เสียเวลา แต่ก่อน สามวันฉันน้ำร้อนกันครั้งหนึ่ง สามวันฉันน้ำร้อนกันครั้งหนึ่ง ถึงว่าจะบวชใหม่บวชเก่า เล็ก ๆ น้อยก็อยู่ในระเบียบนี่ ที่จะอิสรเสรีตามชอบใจไม่ค่อยมี ถึงครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้มีการกวดขันอะไรมาก แต่ความรู้จักความพอดี มันหากมี ว่าควรไม่ควร ถ้าหากว่าความรู้จักควรไม่ควร มันไม่มีในเจ้าของ อันนี้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติอย่างมากทีเดียว มันไม่เป็น มันจะเป็นยังไงของมัน กังวลแต่เรื่องกิน

ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 002/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 280126 วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2528
เรื่องเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราจะทานบ้าง หมายถึงหมาก เราจะสูบบ้างหมายถึงบุหรี่ ถ้าหากว่าไม่เป็นเครื่องกังวลแล้วก็ไม่เป็นการทำลายสุขภาพ มันก็ไม่มีอะไรที่จะน่าวิตก ถ้าหากว่ามันเกิดความกังวลแล้วก็สูบเข้าไป รู้สึกว่ามันไม่สบายในธาตุขันธ์ของเรา อันนี้เราน่าพิจารณา เพราะคำว่าธาตุขันธ์ร่างกาย เป็นของที่มีค่ากว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะเห็นว่า คำว่าบุหรี่ รึ คำว่าหมากนั้น มีค่ากว่าสุขภาพร่างกาย ความเห็นของเรานี้ไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงเทศนาไว้ว่า คำหมากรึบุหรี่ นี่เป็นของมีค่าเป็นของหาได้ยาก ท่านไม่ได้เทศนาไว้อย่างนั้น ท่านว่าอัตภาพร่างกายเป็นมนุษย์มนาอย่างเรา ๆ นี่หละเป็นของหาได้ยาก เราก็ไม่ควรที่จะเอาของหาได้ยากอันนี้ ไปแลกกับของที่พระพุทธเจ้าท่านไม่รับรองว่าเป็นของหาได้ยากรึเป็นของมีคุณค่าอะไร ถ้าหากว่าไม่เป็นไปเพื่อเสื่อมเสียสุขภาพของเรา รู้สึกว่าความเสียหายอาจจะมีก็คงจะไม่มากนัก ถ้าหากว่าในเมื่อสูบเข้าไปแล้วรึว่าทานเข้าไปนี่ เสื่อมรึโทรมลงรึมีปฏิกิริยาที่เรียกว่า เพราะคำว่าหมากรึบุหรี่เป็นเหตุ เราก็ควรที่จะทิ้งเสีย ไม่ควรที่จะเห็นหมากรึบุหรี่นั้น มีความสำคัญเท่าสุขภาพร่างกายของเรา ร่างกายของเรานี่ เป็นของที่มีค่าจริง ๆ แม้แต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็ยังว่า ร่างกายของเรา ๆ นี้หละเป็นของที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก