วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หัวข้อย่อย 15 การขอนิสัย การกราบการไหว้ การแสดงความเคารพตามพรรษา

หัวข้อย่อย 15 การขอนิสัย การกราบการไหว้ การแสดงความเคารพตามพรรษา

ลำดับที่ 001 เลขที่เทป 080/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290627 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2529
การให้นิสัย การขอนิสัย นิสัยแปลว่าที่พึ่งพิง มันเป็นธรรมดา เป็นไงที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน การขอนิสัยก็คือขอความพึ่งพิงขอพึ่งพาอาศัยกัน จะบุคคลใดหรือว่าสังวาสใด ๆ มีการขอนิสัย ไม่ผิด ถ้าหากว่าไม่ขอผิดไหมนี่ อันนี้ก็คิดเอาเอง อันนี้บรรดาเรา ๆ ก็เหมือนกันทั่วไปนี้ ที่เรียกกันว่าสามมติกันว่าพระคณะธรรมยุต จะไปอยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความเป็นธรรมเป็นวินัย แต่สมมติเรียกกันว่าเป็นคณะมหานิกายจะไปขอนิสัยก็ไม่ผิด ทำไมจะไม่ผิด ก็เพราะขอพึ่งพาท่านนี้นิสัยแปลว่าพึ่งพิง พึ่งพาอาศัยกัน ในเมื่อเราไปอยู่กับท่าน ก็พึ่งพาอาศัยท่านอยู่แล้ว แต่ทำเพื่อให้มีความแสดงว่า เจ้าของมีความอ่อนน้อม มีความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมนี้เป็นธรรมเป็นวินัย

ลำดับที่ 002 เลขที่เทป 118/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290823 วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2529
การไปมาหาสู่นี้ต้องรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องรู้จักผู้น้อย เราเป็นผู้น้อยไปหาผู้ใหญ่ ต้องแสดงความอ่อนน้อม มีความเคารพ มีการกราบการไหว้ อย่าถือว่าเป็นอันเดียวกันนี้ ให้มีความอ่อนน้อม ไม่มีความเคารพความคารวะซึ่งกันและกัน ไม่มีแล้จะเอาอะไรเป็นข้อปฏิบัตินี่ แล้วจะเอาอะไรเป็นข้อปฏิบัติที่แก้ไขความแข็งกระด้างของเรา การกราบการไหว้การแสดงความอ่อนน้อมซึ่งกันและกัน ก็เป็นการแก้ความแข็งกระด้าง เป็นการแก้ทิฐิมานะของเรา ซึ่งมันฝังลึกอยู่ในจิตในใจ ต้องแก้ด้วยข้อปฏิบัติ ต้องแก้ด้วยการทำความอ่อนน้อม

ลำดับที่ 003 เลขที่เทป 011/26 ชื่อแฟ้มข้อมูล 261220 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2529
ให้มีความเคารพในธรรมในวินัย ให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน อย่าเอาแต่ทิฐิมานะ หลักพระวินัยท่านกล่าวเอาไว้ พระผู้มีพรรษายิ่งหย่อนกว่ากันสามพรรษา ให้มีความเคารพกัน พูดถึงกันว่าการใส่รองเท้านี่ต้องให้มีความคารวะความอ่อนน้อม มีการกราบการไหว้ แม้แต่พรรษาเดียวกันก็ชั่งเรื่องเหล่านี้เป็นของสำคัญ ให้มีความนอบน้อมให้มีความเคารพในสภาพความเป็นผู้น้อย คำว่านอบน้อมคำว่าอ่อนน้อมเป็นธรรมเป็นเครื่องประดับผู้ปฏิบัติธรรมให้มีความงดงาม ผู้ใหญ่ก็ให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นธรรมเป็นวินัย มีความเคารถในความเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยก็ให้มีความเคารพในความเป็นผู้น้อยนี้ก็เป็นความเจริญของพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่ามีแต่ความแข็งกระด้างมีแต่ทิฐิมานะ ความเจริญของพระศาสนานี่มองไม่เห็นแต่ทิฐิมานะมีแต่ฟืนแต่ไฟ ร้อนรนอยู่ในจิตในใจเท่านั้น ถ้าหากว่าไม่มีความเป็นธรรมเป็นวินัยในใจของเรา
ลำดับที่ 004 เลขที่เทป 036/28 ชื่อแฟ้มข้อมูล 281014 วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2528
ส่วนมากการกราบการไหว้ไม่ค่อยจะมีสติสตังกัน จะมีจิตมีใจในการนึกนอบน้อมในจิตในใจ บางทีมันมองไม่เห็น แล้วจะเอาอะไรเป็นเครื่องกราบไหว้แล้วจะเอาอะไรเป็นเครื่องกราบพระ ถ้าหากว่าไม่มีจิตมีใจทำความนอบน้อมด้วยการกราบไหว้ ด้วยความนอบน้อมในจิตในใจจริง ๆ เรื่องการกราบการไหว้นี่มันเป็นการเปิดเผย เรื่องของแต่ละคน ๆ ๆ นี่ออกมาอย่างชัดที่สุด เรื่องการกราบการไหว้นี่เป็นเครื่องวัดออกมาอย่างชัดภายในจิตใจ การกราบก็กราบเป็นประเพณี ย๊อก ๆ แล้ว อะไร ๆ มันก็เป็นประเพณี ๆ ไปหมด หนักเข้ามันก็แล้วไป ๆ ๆ นี่พระสาสนาเป็นเพียงแต่แค่นี้

ลำดับที่ 005 เลขที่เทป 099/29 ชื่อแฟ้มข้อมูล 290711 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
เณรเถรให้มีความเคารพนอบน้อมกับพระ อย่าแข็งกระด้างอย่าตีเสมอ อันนี้ให้เข้าใจความแข็งกระด้างความตีเสมอกับพระกับเจ้า อันนี้เป็นการกระทำเพื่อทำลายเจ้าของเอง ไม่มีทางที่จะไปได้ ไม่มีทางที่จะตลอดรอดฝั่ง หลังให้อ่อน พอก้มให้ก้ม พอกราบพอคลานให้คลาน มือให้อ่อนพอยกให้ยก พอไหว้ให้ไหว้ ทำมือให้เบาอย่าทำมือให้หนักเหมือนกับโลกทั้งโลกมันถ่วงเอาไว้นี่ พระก็เหมือนกัน ถึงว่าจะพรรษาเดียวกัน ก็ให้มีความเคารพกันตามก่อนตามหลัง พรรษายิ่งหย่อนกว่ากันแม้แต่หนึ่งสอง ก็ให้มีความเคารพกัน ไม่เสียหายตรงไหนเลย นี่แม้แต่พรรษาเดียวกันแต่บวชก่อนบวชวันเดียวกัน บวชวันเดียวกันมีอาวุโส เรียกว่า นาคซ้ายนาคขวา รึว่าอาวุโสกว่ากันชั่วขณะไม่กี่นาที ก็ให้เคารพกัน คำว่าตีเสมออย่าให้มี ผมเห็นท่านเจ้าคุณอาจารย์ลีกับท่านอาจารย์กงมานี่ ท่านเคารพมาก อย่างมีการไปประชุมอย่างนี้ที่ไหนอย่างนี้ เขาจะปูอาสนะนี่ อาสนะอาจารย์อยู่ในระดับเขาจะต้องปู แต่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ลีไม่ยอมนั่ง อันนี้เป็นมรรยาทที่ประเสริฐสุดท่านมีความเคารพมีความอ่อนน้อม ความเคารพความนอบน้อมมันผู้มีธรรมแสดงออกมา ความแข็งกระด้างมันก็เรื่องของคนที่ไม่มีธรรม ของคนที่มีกิเลสแสดงออกมา

ไม่มีความคิดเห็น: